เรื่องเล่าเตาทุเรียง สังคโลก เมืองศรีสัชนาลัย

รู้หรือไม่ เตาทุเรียงคืออะไร ???

เตาทุเรียง คือ เตาสำหรับเผาเครื่องถ้วยชามต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย หรือรู้จักกันในนามเครื่องสังคโลก

สังคโลก เป็นชื่อที่มีความหมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย ทั้งที่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย  เป็นเครื่องถ้วยชามที่เคลือบสีต่างๆ เช่น สีเขียวไข่กา สีน้ำตาล เขียนลายใต้เคลือบใสเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ลายปลา ลายกงจักร ลายพันธุ์พฤกษา เป็นต้น

การสำรวจและขุดค้นพบการกระจายตัวของแหล่งเตาเผาสังคโลกกว่า 200 เตา อยู่ทางทิศเหนือของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม กลุ่มเตาเผาที่สำคัญ ที่ได้ดำเนินการสำรวจขุดค้น พร้อมทั้งอนุรักษ์และจัดทำอาคารจัดแสดง คือ กลุ่มเตาเผาหมายเลข 42 เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้ทราบถึงพัฒนาการของเตาเผาและสิ่งผลิตจากเตา โดยพื้นดินใต้กลุ่มเตาเผาหมายเลข 42 นี้ มีการขุดพบเตาเผาสังคโลกที่ทันซ้อนกันอยู่ถึง 19 เตา

“เตาทุเรียงเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย”  เป็นแหล่งเตาเผาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและแหล่งเตาทุเรียงส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

1.เตาตะกรับ เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านตามแนวดิ่งและแนวตั้งให้ความร้อนไม่เกิน 900 องศาเซลเซียส ลักษณะรูปร่างกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ห้องบรรจุภาชนะตอนบนเป็นแผ่นดินเหนียวเจาะรูกลมเพื่อระบายความร้อน และห้องใส่ไฟอยู่ข้างล่าง

2.เตาประทุน เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านในแนวนอนเช่นเดียวกับเตาทุเรียงที่บ้านป่ายาง

และยังมีเตาอีกเป็นจำนวนมากจมฝังอยู่ใต้ดิน จำนวน 131 เตา และคาดว่ามีเตาที่สูญสลายไปแล้วอีกเป็นจำนวนมาก

เตาเผาเครื่องสังคโลกนี้ จะพบอยู่ในบริเวณใกล้ลำน้ำ เพราะเนื่องจากสมัยก่อนเมืองศรีสัชนาลัยมีแม่น้ำสายใหญ่ที่ใช้เป็นแหล่งอุปโภคบริโภคจึงสะดวกต่อการค้าขายคมนาคมขนส่ง และนอกจากการขนส่งแล้วก็เป็นการแก้ปัญหามลภาวะจากเขม่าควันไฟต่างๆ ที่จะพัดไปตามลมไม่ตกย้อนกลับไปในเมืองได้

หากสนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเตาทุเรียงแนะนำให้ไปชมได้เองที่ เมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

Top